KBank ปิดปรับปรุงระบบฝากเงินอัตโนมัติ (DCA)

ธนาคารกสิกรไทยจะปิดปรับปรุงระบบฝากเงินอัตโนมัติ ในวันเสาร์ที่ 7 – วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2567 ส่งผลให้ไม่สามารถตัดเงิน DCA ที่ตั้งไว้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้
ดังนั้นระบบการตัดเงิน DCA จึงเลื่อนการตัดเงินเป็นวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2567 แทน โดยที่คุณไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขบัญชีคุณแต่อย่างใด
ทั้งนี้คุณยังสามารถทำรายการอื่นๆ ได้ตามปกติ หากมีคำถาม สามารถติดต่อทีมงานได้ทาง Line: @JittaWealth ในช่วงเวลาทำการ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น
ทีมงาน Jitta Wealth
การบริหารความเสี่ยง
- จํานวนหุ้นที่ลงทุนอย่างน้อย 5 หุ้นขึ้นไป ในระยะเวลาหนึ่ง ๆ หรือ ตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
- สัดส่วนการลงทุนในแต่ละหุ้น : จัดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้มีน้ำหนักเท่า ๆ กัน เพื่อให้แต่ละหุ้นไม่มีนัยสำคัญในระดับที่ทำให้กองทุนได้รับผลกระทบได้ และเน้นการเลือกหลักทรัพย์โดยการวิเคราะห์แนวพื้นฐานที่ธุรกิจมีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึง อาจมีการถือเงินสด การถือหลักทรัพย์ประเภท ETF หรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นสามัญรายตัวตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
นอกจากนี้ ยังมีการบริหารความเสี่ยงแยกตามปัจจัยความเสี่ยง พร้อมแนวทางการบริหารความเสี่ยง ดังนี้
1. ปัจจัยความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร (Business Risk)
หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายในของบริษัท ทำให้ผลประกอบการของบริษัทประสบภาวะขาดทุน ซึ่งจะส่งผลทำให้มูลค่าของหลักทรัพย์ของบริษัทนั้นลดต่ำลง
แนวทางการบริหารเพื่อลดความเสี่ยง :
- กองทุนมีการกระจายการลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 5 หลักทรัพย์ ที่ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจลงได้ โดยมีสัดส่วนการลงทุนในแต่ละหุ้นน้ำหนักเท่า ๆ กัน ดังนั้น แต่ละหุ้นจึงไม่ได้มีนัยสำคัญในระดับที่ทำให้กองทุนได้รับผลกระทบได้ และการเลือกหลักทรัพย์นั้นเน้นการวิเคราะห์แนวพื้นฐานที่มีการเลือกกิจการที่มีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องเท่านั้น
- กองทุนจะทำการขายหลักทรัพย์ หากบริษัทที่ถือหลักทรัพย์อยู่กระทำความผิดทางกฎหมายอย่างร้ายแรง และมีการประกาศให้สาธารณะทราบอย่างเป็นทางการ เช่น ผู้บริหารฉ้อโกง หรือมีการตกแต่งบัญชีบริษัท โดยทางบริษัทจะแจ้งเรื่องให้กับลูกค้าที่มีหลักทรัพย์นั้น ๆ อยู่ในกองทุนที่ถือครองทราบถึงสาเหตุของการขายหลักทรัพย์นั้น ๆ ภายใน 15 วันทำการ
2. ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสาร (Market Risk)
หมายถึง โอกาสที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมจะเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือระยะยาวในบางครั้ง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยทางการเมือง การคาดการณ์ของนักลงทุน ฯลฯ ปกติแล้วตลาดหุ้นมักจะขึ้นลงเป็นวัฎจักร (Cycle) คล้ายคลึงกับวัฎจักรเศรษฐกิจ (Economic Cycle) มีช่วงขาขึ้น (Bull Market) และขาลง (Bear Market) รวมทั้งมีความผันผวนในระหว่างช่วง
แนวทางการบริหารเพื่อลดความเสี่ยง :
- จากการที่กองทุนมีนโยบายแบบ Passive Investment ทำให้กองทุนไม่สามารถลดความเสี่ยงของตลาดได้ เนื่องจาก กองทุนมีนโยบายที่จะให้น้ำหนักการลงทุนไว้ในหุ้นเต็ม 100% (Fully Invested) ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อราคาหุ้นในตลาดที่กองทุนถืออยู่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง มูลค่าหน่วยลงทุนก็จะลดลงตาม ซึ่งในช่วงตลาดขาลง กองทุนอาจให้ผลตอบแทนต่ำกว่ากองทุนอื่น ๆ ที่สามารถลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไปถือเงินสดแทนได้
- คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (RMC) จะทำการประเมินสภาพคล่อง และค่า Value at Risk ที่กองทุนถืออยู่ให้เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ โดยหากหุ้นตัวใดจะทำให้กองทุนเกิดความเสี่ยงที่สูงเกินค่าที่เหมาะสม ทาง RMC จะดำเนินการประเมินและแจ้งทางผู้จัดการกองทุนให้ดำเนินการหยุดซื้อหรือขายหุ้นตัวนั้นออก เพื่อลดความเสี่ยงของกองทุน และทำให้กองทุนกลับมาอยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมต่อไป แต่ถ้าทางผู้จัดการกองทุนไม่เห็นด้วย ต้องแจ้งกลับพร้อมเหตุผลของการไม่ปรับพอร์ต
3. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของตราสาร (Liquidity Risk)
ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่กองทุนไม่สามารถจําหน่ายหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ในราคาที่เหมาะสม และภายในระยะเวลาอันสมควร หรือตลาดหลักทรัพย์ที่กองทุนทําการซื้อขายหลักทรัพย์อาจจะหยุดรับคําสั่งซื้อขาย เนื่องจากสภาวะตลาดในขณะนั้น ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุน
แนวทางการบริหารเพื่อลดความเสี่ยง : ผู้จัดการด้านความเสี่ยง (Risk Manager) จะทำการประเมินสภาพคล่องของตราสาร (Liquidity Risk Limit) ของหุ้นรายตัวที่กองทุนถืออยู่ให้เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ โดยหากหุ้นตัวใดจะทำให้กองทุนเกิดความเสี่ยงที่สูงเกินค่าที่เหมาะสม ทาง Risk Manager จะดำเนินการประเมิน และแจ้งทางผู้จัดการกองทุนให้ดำเนินการหยุดซื้อหรือขายหุ้นตัวนั้นออก เพื่อลดความเสี่ยงของกองทุน และทำให้กองทุนกลับมาอยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมต่อไป
4. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Rate Risk)
ความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ ทําให้กองทุนมีความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ นโยบายการเงินและการคลัง เสถียรภาพทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ การเก็งกําไรค่าเงิน เป็นต้น
แนวทางการบริหารเพื่อลดความเสี่ยง : เนื่องจากกองทุนมีนโยบายการลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป จึงไม่มีสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
5. ปัจจัยความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร (Credit Risk)
หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการตราสารหนี้ที่ลงทุนอยู่ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ เนื่องจาก ผู้ออกตราสารหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ กองทุนไม่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ จึงไม่มีความเสี่ยงนี้
6. ความเสี่ยงจากการเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Leverage Risk)
กองทุนไม่มีโนบายการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จึงไม่มีความเสี่ยงนี้
7. ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-Investment Grade) หรือที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated)
กองทุนไม่มีโนบายการลงทุนในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Non-Investment Grade) หรือที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated) จึงไม่มีความเสี่ยงนี้