ตลาดหุ้นผันผวนก็ไม่หวั่น ถ้ารู้ 5 เคล็ดลับนี้

ไฮไลต์
- ความผันผวนเป็นของคู่กันกับตลาดหุ้น แต่คุณจะลงทุนได้สบายใจขึ้นหากมีการเตรียมตัวที่ดี
- ตั้งเป้าหมายการลงทุนให้ชัด รู้ว่าลงทุนไปเพื่ออะไร เลือกสินทรัพย์ให้เหมาะกับเป้าหมายระยะสั้นหรือระยะยาว
- กระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ต ทำ Asset Allocation หรือจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite
- DCA ลงทุนอย่างมีวินัย ถัวเฉลี่ยต้นทุน ลดความเสี่ยง ไม่ต้องกังวลกับการจับจังหวะตลาด
- อย่าตัดสินใจตามอารมณ์ ตลาดตกอย่าตื่น ตลาดพุ่งอย่าประมาท ยึดมั่นในแผนการลงทุนระยะยาว
- ทบทวนและปรับพอร์ตให้เหมาะสม ตรวจสอบสัดส่วนสินทรัพย์ ปรับสมดุลการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมาย
- ความผันผวนของตลาดเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีกลยุทธ์ที่ดีและไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ การลงทุนของคุณก็จะเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง
ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับนักลงทุนที่เตรียมตัวมาดี ความผันผวนจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แค่ต้องมีหลักการที่ชัดเจน และรู้วิธีรับมือเพื่อให้พอร์ตยังเดินหน้าได้ แม้ในช่วงตลาดแปรปรวน
นี่คือ 5 เคล็ดลับ ที่ไม่ลับแต่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อแรงกระเพื่อมของตลาดหุ้นที่ผันผวนอยู่บ้าง ให้คุณประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวได้อย่างราบรื่นขึ้น

เคล็ดลับที่ 1: ตั้งเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน
ก่อนจะลงทุน ต้องรู้ว่าลงทุนไปเพื่ออะไร
การมีเป้าหมายที่ชัดเจนช่วยให้คุณไม่ไขว้เขวไปตามอารมณ์ตลาด โดยเป้าหมายในการลงทุนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปสามารถจัดหมวดหมู่ได้ดังนี้
เป้าหมายการลงทุนระยะสั้น (Short-Term Goals)
- ระยะเวลา: 1-3 ปี เพื่อวัตถุประสงค์ระยะสั้นๆ เช่น เก็บเงินดาวน์รถ หรือท่องเที่ยวเป็นต้น เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากมีระยะเวลาที่จำกัดในการใช้เงินก้อนนี้
- สินทรัพย์ที่เหมาะสม: เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก กองทุนตลาดเงิน หรือตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้น
เป้าหมายการลงทุนระยะยาว (Long-Term Goals)
- ระยะเวลา: 5 ปีขึ้นไป เพื่อวัตถุประสงค์ที่ใหญ่ขึ้น และสามารถให้เวลาเงินได้เติบโตนานขึ้น เช่น วางแผนเกษียณ ส่งลูกเรียนมหาลัย หรือสร้างความมั่งคั่ง เป็นต้น เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ก็ต้องอยู่ในความเสี่ยงที่รับได้ด้วย
- สินทรัพย์ที่เหมาะสม: เช่น หุ้นรายตัว หรือ ETF ที่ลงทุนในกลุ่มหุ้นเติบโต เป็นต้น
เมื่อมีเป้าหมายที่แน่นอน ก็จะช่วยให้คุณเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการ และวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
เคล็ดลับที่ 2: กระจายความเสี่ยงให้ดี อุ่นใจทุกสถานการณ์
การกระจายความเสี่ยงคืออะไร?
การกระจายความเสี่ยง คือการสร้างสมดุลของความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวมของคุณ ที่จะส่งผลให้ผลตอบแทนโดยรวมของคุณไม่ผันผวนจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการกระจายซื้อหุ้นหลายตัว มีสินทรัพย์หลายประเภทในพอร์ต ลงทุนหลากอุตสาหกรรม หลากหลายธีมการลงทุนก็ล้วนเป็นการกระจายความเสี่ยงทั้งสิ้น Jitta Wealth ขอยกตัวอย่าง 2 ประเภทของการกระจายความเสี่ยง
การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)
การกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยง และ เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน ตามเป้าหมายของการลงทุน โดยการคัดเลือกสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่ไม่ค่อยสัมพันธ์กันมาจัดพอร์ต เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น สินทรัพย์หนึ่งราคาอาจจะตก แต่อีกสินทรัพย์หนึ่งราคาอาจจะขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพอร์ตโดยรวมไม่ผันผวนมากนัก
เนื่องจากไม่มีสินทรัพย์ไหนให้ผลตอบแทนดีตลอดเวลา การกระจายความเสี่ยงคือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้พอร์ตไม่พังเวลาตลาดตก
จัดพอร์ตแบบ Core & Satellite
อีกวิธีหนึ่งของการจัดพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยงคือ การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite
วิธีนี้จะแบ่งพอร์ตการลงทุนออกเป็น 2 ส่วน
Core Port: พอร์ตหลัก เป็นรากฐานของการลงทุน เน้นสร้างผลตอบแทนที่คาดหวังได้ในระยะยาว เติบโตเรื่อยๆ ในความเสี่ยงที่ต่ำที่สุดที่เป็นไปได้ เช่น ตราสารหนี้ กองทุนดัชนี ETF หรือ หุ้นที่กระจายความเสี่ยงอยู่ใน Core Port อย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวน และสร้างผลตอบแทนที่คาดหวังได้ในระยะยาว
Satellite Port: พอร์ตรอง ไว้เป็นโครงสร้างต่อเติมเสริมจากรากฐาน เพื่อบูสต์การเติบโต เน้นคว้าโอกาสทำกำไรสูงขึ้น บนความเสี่ยงที่มากขึ้นได้เพราะมี Core Port รองรับอยู่แล้ว เช่น หุ้นเติบโต หุ้นเมกะเทรนด์ หุ้นเทคโนโลยี หุ้นในประเทศกำลังพัฒนา หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เป็นต้น
โดยสัดส่วนของ Core Port ควรอยู่ที่ประมาณ 60-80% ของเงินลงทุนทั้งหมด อาจจะน้อยหรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่คุณรับได้ แต่ไม่ควรต่ำกว่า 50% เพราะจะทำให้การลงทุนโดยรวมของคุณเผชิญความเสี่ยงมากเกินไปได้
เคล็ดลับที่ 3: รักษาวินัย ถัวเฉลี่ยต้นทุนด้วยการ DCA
การ DCA หรือ Dollar-cost Averaging คือกลยุทธ์การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย โดยแบ่งการลงทุนออกเป็นงวดๆ อย่างสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กันในระยะเวลาที่คุณเป็นคนกำหนดเอง
ข้อดีคือ ช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะลงทุน ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง กลยุทธ์นี้จะช่วยให้คุณได้ราคาต้นทุนเฉลี่ยที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงจากการเข้าซื้อในช่วงที่ราคาสูงเกินไป อีกทั้งยังช่วยให้ไม่พลาดโอกาสทำกำไรในช่วงตลาดกลับตัวอีกด้วย
เคล็ดลับที่ 4: หลีกเลี่ยงการตัดสินใจตามอารมณ์
อารมณ์เป็นศัตรูตัวฉกาจของนักลงทุน หลายคนตัดสินใจขายหุ้นเมื่อเห็นตลาดตกหนัก หรือรีบซื้อเมื่อเห็นตลาดพุ่งแรง ซึ่งมักทำให้ขาดทุนมากกว่ากำไร วิธีป้องกันคือ
- ยึดมั่นในแผนการลงทุนที่วางไว้
- ใช้ข้อมูลและเหตุผลมากกว่าความรู้สึก
- มองภาพรวมระยะยาว อย่าตื่นตระหนกกับความผันผวนระยะสั้น
ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2563 ที่เกิดวิกฤติ Covid-19 นักลงทุนหลายคนตื่นตระหนกและขายหุ้นออกไปทั้งหมด แต่หลังจากนั้นเพียง 1 ปี ตลาดหุ้นกลับมาพุ่งขึ้นมา ทำให้พลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนระยะยาว (ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ถึงมีนาคม 2564 ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นประมาณ 53.7%)
ทั้งนี้การติดตามข่าวสารเป็นเรื่องที่ดี แต่คุณจะต้องวิเคราะห์ให้รอบคอบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบการลงทุนของคุณอย่างไรบ้าง เพราะมีหลายครั้งที่ข่าวร้ายเหล่านั้น อาจไม่เกี่ยวข้องกับหุ้นในพอร์ตคุณเลยด้วยซ้ำ แต่ความตื่นตระหนกอาจทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาดได้
จำไว้ว่า ก่อนจะทำอะไรกับพอร์ตทบทวนให้ดีๆ ด้วยเหตุและผลก่อน
เคล็ดลับที่ 5: ทบทวน ปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
แม้ว่าการลงทุนระยะยาวจะมีข้อดีมากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องปล่อยพอร์ตไปเลยโดยไม่ติดตามอะไรเลย ควรมีการตรวจสอบพอร์ตเป็นระยะ เช่น ทุกไตรมาสหรือทุกปี เพื่อปรับให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดและเป้าหมายของคุณเอง
- หากตลาดเปลี่ยนแปลงมาก อาจต้องปรับพอร์ตให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่รับได้
- หากสินทรัพย์บางตัวเติบโตจนมีสัดส่วนมากเกินไป ควรปรับสมดุล (Rebalancing) เพื่อลดความเสี่ยง
- ศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาแนวทางการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
เหมือนกับที่นโยบายต่างๆ ของ Jitta Wealth ที่มีระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติ คอยทบทวนและบาลานซ์พอร์ตให้สามารถลงทุนระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบบอัตโนมัติ
สถานการณ์ตลาดหุ้นควบคุมไม่ได้ แต่จัดการด้วยกลยุทธ์และมายเซ็ตการลงทุนที่ดีได้ และความผันผวนนี่เองยังกลายเป็นโอกาสสร้างกำไรได้ ถ้าเราเข้าใจหลักการลงทุนและนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง
วางแผนรับมือให้ดี มีเป้าหมายที่ชัดเจน กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม รักษาวินัยในการลงทุน และไม่ให้อารมณ์มาควบคุมการตัดสินใจ ที่สำคัญ อย่าลืมทบทวนและปรับกลยุทธ์อยู่เสมอเพื่อให้พอร์ตแข็งแกร่งในทุกสภาวะตลาดด้วย